วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประวัติประเพณีสงกรานต์






คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก  กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ทำในเทศกาลนี้ก็มี การทำความสะอาดบ้านเรือน ทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำกัน เป็นต้น อย่างไรก็ดี นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ประเพณีสงกรานต์ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง สำหรับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์มีดังนี้


ก่อนที่เราจะถือวันสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทยนั้น สมัยโบราณ เราถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะถือว่าฤดูหนาว เป็นการเริ่มต้นปี ซึ่งจะตกราวเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการสังเกตธรรมชาติและฤดูการผลิต เป็น วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ หรือประมาณเดือนเมษายน ครั้นในปีพ.ศ. ๒๔๓๒ สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ เมษายน และต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๘๓ จอมพลป.พิบูลสงครามก็ได้ประกาศให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่จนปัจจุบัน อันเป็นการนับแบบสากล อย่างไรก็ดี คนไทยในหลายภูมิภาคก็ยังยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ ซึ่งแต่เดิมแม้จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ก็ไม่ได้ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ดังเช่นปัจจุบัน จนเมื่อพ.ศ.๒๔๔๔ เป็นต้นมา จึงได้กำหนดเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ตามปฏิทินเกรกอรี่


  ๒.       นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีมอญ พม่า ลาว และชนชาติไทยเชื้อสายต่างๆอันเป็นชนส่วนน้อยในจีน อินเดีย ก็ถือว่าสงกรานต์เป็นเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ของเขาด้วยเช่นกัน
                 ๓.       ภาคกลางเรียกวันที่ ๑๓ เมษายน ว่า “วันมหาสงกรานต์” ซึ่งวันนี้ทางการได้ประกาศให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” วันที่ ๑๔ เมษายน เรียก “วันเนา” และรัฐบาลสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้ประกาศให้เป็น “วันครอบครัว” ส่วนวันที่ ๑๕ เมษายน เรียก “วันเถลิงศก” คือวันเริ่มจุลศักราชใหม่

                 ๔.       ทางล้านนาเรียกวันที่ ๑๓ เมษายนว่า “วันสังขารล่อง” ซึ่งบางท่านให้ความหมายว่า หมายถึงอายุสิ้นไปอีกปี วันที่ ๑๔ เมษายน เรียก“วันเน่า” เป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ ส่วนวันที่ ๑๕ เมษายนเรียก “วันพญาวัน” คือวันเปลี่ยนศกใหม่

                 ๕.       ภาคใต้ เรียกวันที่๑๓ เมษายนว่า “วันเจ้าเมืองเก่า”หรือ “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ส่วนวันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า “วันว่าง” คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ดังนั้น ชาวบ้านก็จะงดงานอาชีพต่างๆ แล้วไปทำบุญที่วัด ส่วนวันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิมที่ย้ายไปประจำเมืองอื่นแล้ว









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น